วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ

 




วิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเรา ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ส่งผลให้เราสามารถดูแลสุขภาพได้ดีขึ้นและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการโภชนาการ ผลจากการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เรามีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย เช่นเราจะรู้สึกว่าไม่มีความสุขหากอากาศร้อนมากวิทยาศาสตร์ช่วยให้เรามีพัดลมหรือแอร์ เราได้รับความบันเทิงทางเทคโนโลยีเช่นทีวี วิทยุ เป็นต้น เราสามารถเก็บข้อมูลได้มากมายเรียกใช้ข้อมูลประมวลความรู้และสื่อสารข้อมูลไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วจากเครื่องคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ช่ายให้เราเข้าใจตัวเองและโลกรอบตัว ความยิ่งใหญ่และความซับซ้อนของธรรมชาติทำให้เราพยายามอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจและแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในจักรวาล ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราเกิดความตระหนักมากขึ้นและพยายามที่เขียนอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล
เด็กเล็กๆมีธรรมชาติที่เป็นผู้ความอยากรู้อยากเห็น ชอบใช้คำถามว่า ทำไม อย่างไรสามารถแสวงหาความรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัวเขาและเริ่มเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ เด็กสามารถสังเกตและสื่อสารเกี่ยวเรื่องดิน หิน อากาศและท้องฟ้า เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุ พลังงานจากแม่เหล็ก แสงและเสียง เด็กสามารถสำรวจลักษณะของน้ำและความร้อน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กปฐมวัยเริ่มการทำงานทางวิทยาศาสตร์ เด็กสามารถแก้ปัญหาต่างๆโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆได้มากมาย กิจกรรมวิทยาศาสตร์ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาโดยทำให้เด็กได้รับความรู้ พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่น การสังเกต การจำแนกประเภท การเรียงลำดับ การวัด การคาดคะแน และการสื่อสาร รวมทั้งทักษะการแสวงหาความรู้ กิจกรรมวิทยาศาสตร์ทำให้เด็กสนใจวัตถุและเหตุการณ์ เด็กเล็กมีวิธีการเรียนรู้คล้ายนักวิทยาศาสตร์สามารถทำงานด้วยทักษะการแสวงหาความรู้ กิจกรรมวิทยาศาสตร์ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาการทางอารมณ์เช่นเด็กมีความรู้สึกและเจตคติทางบวก
วิทยาศาสตร์หมายถึงการสืบค้นและอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ สภาพแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ หรือวิทยาศาสตร์หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆในธรรมชาติ โดยได้จากการศึกษาค้นคว้าอย่างมีขั้นตอนและมีระเบียบแบบแผน ความรู้ของข้อมูลต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีหลักฐานและข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นจากการค้นพบใหม่ที่เป็นปัจจุบันและที่ดีกว่าคือ ตัวอย่างและข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สามารถทดสอบได้ มีขอบเขต มีระเบียบกฎเกณฑ์ มีการสังเกตการจดบันทึกการตั้งสมมติฐาน และอื่นๆ วิทยาศาสตร์มีขอบข่ายการศึกษาค่อนข้างกว้างขวาง แต่โดยสรุปแล้วก็คือ การศึกษาธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งอาศัยกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ที่มีขั้นตอนเป็นระเบียบแบบแผนตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์พยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจและอธิบายธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา อันได้แก่ พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลง และปรากฏการณ์ต่างๆ จนนำไปสู่การกำหนดหลักการ กฎเกณฑ์ และทฤษฏี อันเป็นรากฐานของการศึกษาค้นคว้าแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ศึกษาธรรมชาติและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต แล้วสรุปเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการ แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ศึกษาความธรรมชาติและความสัมพันธ์ของสสารกับพลังงาน จนได้มาเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการ เป็นต้น
Katz and Chard (1986. อ้างอิงจาก Cliatt & Shaw. 1992 : 3-4 ) อธิบายวัตถุประสงค์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่า ทำให้เกิดความรู้ ทักษะต่างๆ การจัดการและ ความรู้สึก ความรู้ประกอบด้วย ความคิด ข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอดและสารสนเทศ ทักษะประกอบด้วย พฤติกรรมทางร่างกาย สังคม การสื่อสารและการแสดงออกทางปัญญาเช่น การเล่นและการทำงานคนเดียวหรือกับคนอื่นๆ การแสดงความคิดผ่านภาษาโดยการพูดและการเขียน การจัดการกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยลักษณะนิสัยการทำงานด้วยความอดทน ความอยากรู้อยากเห็น การลงมือแสวงหาความรู้ด้วยการทดลองตามที่ได้วางแผนไว้ สนับสนุนให้ได้มาซึ่งความรู้ อัญชลี ไสยวรรณ(2547 :1-6 )กล่าวเพิ่มเติมว่ากิจกรรมวิทยาศาสตร์ทำให้เด็กเรียนรู้วิธีการเรียนและการสร้างความมั่นใจของเด็ก ลดความกลัวในสิ่งที่ยังไม่รู้ จะนำไปสู่ความรู้สึกประสบความสำเร็จ การสนับสนุนความอยากรู้ของเด็ก กิจกรรมวิทยาศาสตร์เพิ่มความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นในการทำงานร่วมกันเพื่อหาคำตอบจากคำถามทางวิทยาศาสตร์

    กิจกรรมวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนเด็กปฐมวัยมีความสำคัญหลายประการดังนี้

  1. ส่งเสริมการเห็นคุณค่าของตนเองและมีความกระตือรือร้น (คือเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้)
  2. ส่งเสริมการทำงานรายบุคคลและการคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาของเด็ก
  3. ยอมรับรูปแบบการเรียนรู้จากวัสดุอุปกรณ์ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติ การรับรู้และความพยายามของเด็กหลายคนจากการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมีความสำคัญต่อการรับรู้ชีวิต เรียนรู้ภาษาจากประสบการณ์การทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์
  4. เพื่อเป็นการช่วยอธิบายความเข้าใจด้วยตัวเองของเด็ก
  5. ดูแลเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมของเด็กที่ปรากฎ เช่น การแสดงความกังวลใจ เด็กที่เกิดความเบื่อ
  6. กิจกรรมการค้นพบช่วยให้ผู้เรียนสนใจใฝ่รู้ อยากสืบค้นต่อไป
  7. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพทางสติปัญญาของเด็กจากการเรียนรู้ที่เด็กได้สัมผัสกับวัสดุอุปกรณ์ ทำให้เด็กมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมที่มีความยากขึ้น เด็กได้เรียนรู้ภาษาและเนื้อหาสาระแบบบูรณาการ เช่น วิธีการได้รับประสบการณ์ทางภาษาแบบธรรมชาติต่อการอ่าน วิธีการสอนแบบโครงการต่อการพัฒนาหลักสูตร การใช้ประสาทสัมผัส และการใช้กล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมกับวัย

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

             สื่อการสอนเป็นตัวกลางซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน มีหน้าที่เป็นตัวนำความต้องการของครูไปสู่ตัวนักเรียนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นผลให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายการสอนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม นักการศึกษาเรียกชื่อสื่อการสอนด้วยชื่อต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์การสอน วัสดุการสอน โสตทัศนูปกรณ์ เทคโนโลยีการศึกษา สื่อการเรียนการสอน สื่อการศึกษา เป็นต้น
สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ หรือสื่อในการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เนื้อหา ที่เป็นความรู้ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเจตคติทางวิทยาศาสตร์
ชนิดของสื่อการสอน
             สื่อการสอนที่ใช้ในการสอนมีหลายชนิดสำหรับเด็กปฐมวัยอาจกล่าวได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นเครื่องช่วยให้เด็กวัยนี้มีพัฒนาการ นับว่าเป็นสื่อการสอนได้ทั้งสิ้น ได้แก่
             1. ครู
ครูเป็นสื่อที่นับได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นผู้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ
ในการเรียนรู้และเป็นสื่อที่จะนำสื่ออื่น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน หากปราศจากครู การเรียนการสอนก็จะไม่มีผลต่อเด็กในวัยนี้อย่างแน่นอน
             2. สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
สื่อชนิดนี้ครูหรือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจัดหาหรือทำขึ้น เพราะมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
เพียงแต่ผู้ใช้จะต้องเลือกตามความมุ่งหมาย เช่น การสอนเรื่องวงจรชีวิตกบ ก็ควรเลือกฤดูกาลที่เหมาะสม คือ ฤดูฝน เพื่อจะได้นำสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติมาศึกษาได้ แทนที่จะใช้วิธีวาดภาพไข่กบ ลูกอ็อด และลูกกบ ประกอบคำอธิบาย เป็นต้น
             3. สื่อที่ต้องจัดทำขึ้น
สื่อชนิดนี้มีมากมายหลายชนิด สุดแต่ผู้ที่สนใจจะจัดซื้อ จัดหา หรือจัดทำขึ้น ได้แก่
ของจำลอง ภาพถ่าย ภาพวาด เกม วีดีทัศน์ ฯลฯ
นอกเหนือจากนี้ สื่อดังกล่าวอาจแบ่งออกตามลักษณะของการใช้ได้เป็น 3 ประเภทคือ
             1. สื่อการสอนประเภทวัสดุ เช่น ภาพ เปลือกหอย ฯลฯ
             2. สื่อการสอนประเภทอุปกรณ์ เช่น วิทยุ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ
             3. สื่อการสอนประเภทวิธีการ กระบวนการจัดกิจกรรม เช่น การสาธิต การทดลอง เกม
บทบาทสมมติ ฯลฯ
การจัดหาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์
             ก่อนที่ครูปฐมวัยจะจัดสื่อการสอนนั้นควรคำนึงถึงสื่อที่อยู่ใกล้ตัวก่อน ซึ่งอาจเป็นสื่อของจริงชนิดต่าง ๆ หรือสื่อสำเร็จรูป ได้แก่ ตุ๊กตา หุ่นจำลอง แล้วจึงคิดต่อไปว่าสื่อชนิดใดจะจัดทำขึ้นได้อย่างง่าย ๆ ประหยัดวัตถุดิบ ประหยัดเวลาและแรงงาน ได้ผลคุ้มค่า และใช้ประโยชน์ได้ตรงตามจุดประสงค์ที่วางไว้ ถึงแม้ว่าสื่อนั้นจะไม่สวยงามเท่ากับสื่อที่จัดทำขึ้นด้วยเครื่องจักรซึ่งมีความประณีตงดงามก็ตาม และที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าครูสามารถผลิตสื่อได้เองก็จะเป็นการดี ไม่ต้องรองบประมาณในการจัดซื้อ
ครูปฐมวัยต้องจัดหาและรวบรวมสื่อ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้นครูควรจะทราบถึงแหล่งของวัสดุอุปกรณ์ และวิธีการที่จะได้สื่อ วัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นมา
แหล่งสื่อที่ครูสามารถรวบรวมได้ ได้แก่
             1 พ่อแม่และผู้ปกครองของเด็ก พ่อแม่และผู้ปกครองของเด็กเป็นจำนวนมากที่ได้สะสมวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไว้มาก เช่น เขาได้ไปเที่ยวทะเลมาเขาก็สะสมเปลือกหอยต่าง ๆ ไว้ ถ้าทางโรงเรียนได้บอกถึงความต้องการสิ่งเหล่านี้ ผู้ปกครองเด็กมีความยินดีที่จะบริจาคให้ หรือผู้ปกครองบางคนที่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์อยู่ เขาอาจจะบริจาคเป็นเงินเพื่อให้ซื้อก็ได้ หรือบางคนอาจจะให้ยืมมาใช้
             2 บุคคลต่าง ๆ ในชุมชน ได้แก่ เจ้าของร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน บุคคลเหล่านี้จำนวนมากต้องการช่วยเหลือโรงเรียนอยู่แล้ว ถ้าโรงเรียนแจ้งความจำนง
             3 ซื้อจากร้านค้า ซึ่งอาจจะหาซื้อได้จากร้านค้าที่เป็นของคุรุสภาหรือของเอกชนทั่ว ๆ ไป
             4 ประดิษฐ์ขึ้นเอง ทางโรงเรียนอาจจะทำขึ้นมาเอง หรือเชิญคนในชุมชนที่มีความสามารถร่วมกันจัดทำ โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ในการรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น ครูควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
- ความปลอดภัย วัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาให้เด็กใช้ต้องปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ เช่น ไม่มีคมที่อาจบาดมือเด็กได้ หรือสีที่ใช้ต้องไม่มีอันตรายต่อสุขภาพเด็ก เป็นต้น
- ความเหมาะสม วัสดุอุปกรณ์ทึ่จัดหามานั้นต้องมีขนาดเหมาะสมกับวัยของเด็ก เด็กสามารถหยิบใช้ได้เอง นอกจากนั้นยังต้องเหมาะสมกับเรื่องที่สอนด้วย
- ราคาถูก ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้เงินซื้อหรือซื้อก็ใช้เงินเพียงเล็กน้อย
- สะดวกในการขนย้ายและเก็บรักษา
- พยายามใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ต้นไม้ อากาศ ไอน้ำ ฯลฯ
ในสภาพปัจจุบัน โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดซื้อ จัดหาสื่อการสอนและของเล่นเด็กได้ครบถ้วนทุกประการ ทั้งนี้ครูปฐมวัยจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มพูนทักษะ การคิดค้น ประดิษฐ์ สะสมวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ที่พอจะหาได้ในท้องถิ่น เช่น ขวดพลาสติก จุกขวดฝาน้ำอัดลม กระป๋องนม เศษผ้า เศษไม้ กล่องกระดาษ ลังกระดาษ เมล็ดพืช ใบไม้ ดอกไม้ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ วัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ หาได้จากเด็ก ๆ ในโรงเรียน เพื่อนครู เพื่อนบ้าน ครูปฐมวัยควรฝึกการชอบสะสมเศษวัสดุเพื่อนำมาผลิตเป็นสื่อ
การใช้สื่อการสอนวิทยาศาสตร์
             ในแต่ละวันที่จัดกิจกรรมให้เด็ก กิจกรรมนั้นควรมีสื่อเป็นเครื่องมือชักนำให้เด็กมีความสนใจในแต่ละกิจกรรมนั้น ๆ นานพอสมควร วิธีการใช้สื่อ โดยพิจารณาจากกิจกรรมจะขอกล่าวถึงกิจกรรมในวงกลมหรือกิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นตัวอย่างของการใช้สื่อเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ของเด็ก โดยนำเนื้อหาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พร้อมทั้งสื่อเสนอเป็นตัวอย่าง ดังนี้
             1. กิจกรรมทายเสียงสัตว์
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักธรรมชาติเกี่ยวกับสัตว์
กิจกรรมและสื่อ ครูทำเสียงสัตว์ต่าง ๆ ให้เด็กทาย การทายนี้อาจจะให้เด็ก
ตอบปากเปล่าหรือใช้ภาพสัตว์ หรือชูภาพสัตว์ที่ครูทำไว้ ชู
ให้ครูและเพื่อน ๆ ดู
             2. กิจกรรมทายกลิ่น
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูลองหาสิ่งของต่าง ๆ เช่น ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ
ผิวส้ม กะปิ ใบตะไคร้ ใบเตย ฯลฯ เท่าที่พอจะหาได้ให้
เด็กได้มีโอกาสดมและรู้จักจนแน่ใจ
             2) ใช้ผ้าปิดตาผู้ที่จะทาย แล้วให้ผู้นั้นมีโอกาสเพียงดมกลิ่น
สิ่งต่าง ๆ ที่ละอย่าง แล้วตอบว่าแต่ละอย่างคือสิ่งใดบ้าง
             3. กิจกรรมชิมรส
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูนำสิ่งที่เด็กจะรับประทานได้โดยไม่เป็นอันตราย เช่น
เกลือ น้ำตาล มะนาว มะระ ฯลฯ มาให้เด็กมีโอกาสเห็น
และชิม
             2) ใช้ผ้าปิดตาผู้เป็นอาสาสมัครแล้วให้ชิมสิ่งต่าง ๆ แล้วให้
ทายว่าสิ่งนั้นคืออะไร
             4. กิจกรรมหลับตาคลำสิ่งของ
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักสังเกตลักษณะเด่นชัดของสิ่งของต่าง ๆ
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูให้เด็กได้สัมผัสของเล่นหรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผลไม้
ดอกไม้
             2) ปิดตาอาสาสมัคร แล้วให้สัมผัสของแต่ละชนิดแล้วทาย
ว่าคืออะไร
             5. กิจกรรมบอกส่วนต่าง ๆ ของพืช
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักส่วนต่าง ๆ ของพืช
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูนำพืชที่มีส่วนประกอบสำคัญต่าง ๆ เช่น ราก ใบ ดอก
ผล มาให้เด็กพิจารณา และแนะนำส่วนสำคัญเหล่านั้น
             2) ครูให้เด็กชี้บอกส่วนต่าง ๆ ตามครูบอกชื่อหรือใน
ทำนองกลับกัน ให้ครูเป็นฝ่ายชี้ให้เด็กบอกว่าส่วนของ
พืชที่ครูชี้นั้นเรียกว่าอะไร
             6. กิจกรรมจับคู่แม่ลูก
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักลักษณะของสัตว์เมื่อยังตัวเล็ก-โต
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูจัดทำภาพลูกสัตว์กับพ่อหรือแม่ของสัตว์ต่าง ๆ เหล่า
นั้น เป็นคู่ ๆ
             2) นำภาพเหล่านั้นคว่ำลงปนกัน แล้วให้เด็กแข่งขันกัน
เลือกให้เข้าคู่เป็นคู่ ๆ
             7. กิจกรรมแยกประเภทสัตว์
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักแบ่งประเภทของสัตว์อย่างง่าย ๆ
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูจัดทำภาพสัตว์หลาย ๆ ชนิดที่เด็กรู้จักแล้ว แนะนำว่า
สัตว์ชนิดใดเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ชนิดใดเป็นสัตว์ป่า
             2) ให้เด็กแยกประเภทสัตว์ไปตั้งกับฉากที่จัดทำไว้เป็น 2
แบบ คือ ฉากป่า กับฉากบ้าน
             8. กิจกรรมเกมสัตว์เลี้ยง
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักชื่อสัตว์ชนิดต่าง ๆ มากขึ้น
กิจกรรมและสื่อ
             1) ให้เด็กแต่ละคนบอกชื่อสัตว์มาคนละชนิด และจำไว้ว่าตัวเองคือสัตว์ชนิดใด
             2) จัดเด็กนั่งล้อมกันเป็นวงกลม โดยให้มีจำนวนเก้าอี้น้อย
กว่าผู้เล่น 1 คน ดังนั้นจะมีผู้เล่นซึ่งจะเป็นถามกลางวง 1
คน ผู้ถามจะถามใครก่อนก็ได้เธอรักสัตว์ต่าง ๆ ไหมถ้า
ผู้ถูกถามตอบว่า รักทุกคนรวมทั้งผู้ถามและผู้ถูกถามจะ
ต้องรีบลุกขึ้นเปลี่ยนที่นั่งซึ่งย่อมจะมีผู้ที่ไม่มีที่นั่งเหลืออยู่
คนหนึ่งเป็นคนถาม เมื่อมีการถามว่า เธอรักสัตว์ต่าง ๆ
ไหมและถ้าผู้ตอบตอบเช่นเดิม ทุกคนก็จะต้องลุกขึ้น
เปลี่ยนอีกที แต่ถ้าผู้ตอบคนใดตอบว่า ไม่รักผู้ถามจะต้อง
ซักต่อไปว่า ไม่รักแมว ลิง หมาทุกคนที่สมมติตัวอย่าง
ว่าเป็นสัตว์เหล่านั้น ก็จะต้องลุกขึ้นเปลี่ยนที่และจะมีผู้ที่ไม่
มีที่นั่งเหลืออยู่ต่อไป (เกมนี้ครูควรจัดทำหน้ากากเป็นรูป
สัตว์ต่าง ๆ แจกให้เด็กแต่ละคนสวมด้วย เพื่อทุกคนจะได้
เห็นว่าเพื่อน ๆ ที่ร่วมแสดงนั้นเล่นเป็นตัวแทนสัตว์ชนิดใด
บ้าง
             9. กิจกรรมลอกและพิมพ์เส้นใบของใบไม้
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กได้เห็นลักษณะของใบไม้ที่แตกต่างกันออกไป
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูนำใบไม้ชนิดต่าง ๆ กระดาษขาว สีเทียนมาเตรียมเป็น
สื่อสำหรับเด็ก
             2) เปิดโอกาสให้เด็กลอกเส้นของใบไม้ โดยการใช้กระดาษ
ทาบลงบนใบไม้ แล้วถูด้วยสีเทียน ลายเส้นของใบไม้จะ
ปรากฏขึ้นมาอย่างเห็นชัดเจน
             10. กิจกรรมเลือกอาหารสัตว์
จุดประสงค์ เพื่อให้มีพื้นฐานในการเลี้ยงดูสัตว์
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูสนทนากับนักเรียน เรืองสัตว์ชนิดต่าง ๆ แล้วอภิปราย
เกี่ยวกับอาหารสัตว์แต่ละชนิดชอบกิน
             2) ครูจัดทำภาพอาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ และภาพสัตว์มาเพื่อ
ให้นักเรียนจับคู่โดยการโยงเส้น หรือใช้ริบบิ้นตัดโยง
ภาพสัตว์และอาหารที่สัตว์แต่ละชนิดชอบ
             11. กิจกรรมสำรวจอ่างปลา
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักสังเกตเกี่ยวกับพืช สัตว์ และสิ่งที่ไม่มีชีวิตกิจกรรมและสื่อ
             1) ครูให้นักเรียนมีโอกาสไปดูอ่างเลี้ยงปลาอย่างใกล้ ๆ เพื่อ
ดูสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในอ่างเลี้ยงปลานั้น
             2) ครูถามนักเรียนด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น มีสัตว์ชนิดใดบ้าง
ในอ่าง มีพืชชนิดใด และมีสิ่งใดบ้างที่ไม่ใช่พืชหรือสัตว์
             12. กิจกรรมทายรอยเท้าสัตว์
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กรู้จักสังเกตลักษณะของรอยเท้าสัตว์ชนิดต่าง ๆ
กิจกรรมและสื่อ
             1) ครูให้นักเรียนล้างเท้า แล้วเดินบนพื้นให้เป็นรอยเท้าของ
ตนเอง
             2) ครูนำสัตว์บางชนิดที่หาง่าย เช่น สุนัข แมว มาพิมพ์รอย
เท้าของสัตว์เหล่านี้บนกระดาษขาว ให้เด็กได้สังเกต ต่อ
จากนั้นจึงดำเนินกิจกรรมทายรอยเท้าของสัตว์อื่น ๆ ต่อ
ไป โดยอาจจะต้องหาโอกาสนให้เด็กได้เห็นสัตว์หรือ
ภาพสัตว์ชนิดนั้นก่อน
             13. กิจกรรมรุ้งกินน้ำจำลอง
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดรู้งกินน้ำ
กิจกรรมและสื่อ ครูหรือนักเรียนอาจทำรุ้งกินน้ำเอง โดยการอมน้ำไว้ในปาก
แล้วพ่นพานแสงแดดที่ส่องผ่านช่องลม หรือรอยแตกของ
ผนัง ซึ่งภายในห้องมืดจะเห็นลักษณะของรุ้งกินน้ำ เกิดขึ้น
ชั่วครู่หนึ่ง หากไม่ใช้วิธีอมน้ำพ่น อาจใช้กระบอกฉีดน้ำที่
ใช้พรมผ้าในขณะรีดผ้าแทนก็ได้
             14. กิจกรรมแยกพวกสารแม่เหล็ก
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติของแม่เหล็ก
กิจกรรมและสื่อ ครูนำของหลาย ๆ ชนิดใส่ไว้บนถาดหรือวางบนโต๊ะ แล้ว
ให้เด็กลองใช้แม่เหล็กเข้าไปใกล้ ๆ ของแต่ละอย่าง แล้ว
แยกว่าของชนิดใดที่ดูดติดกับแม่เหล็กก็ไว้พวกหนึ่ง พวกที่
ไม่ติดแม่เหล็กไว้อีกพวกหนึ่ง
             15. กิจกรรมเกมเหยียบเงา
จุดประสงค์ เพื่อให้เด็กได้เห็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ
กิจกรรมและสื่อ ในตอนเช้าหรือบ่ายแดดอ่อนพอที่จะทำให้เกิดเงาที่มองเห็น
ได้ ครูอาจพานักเรียนมาเล่นเหยียบเงากัน โดยใครถูกคนอื่นเหยียบเงา ก็จะแพ้ต้องออกจากวงไป ทั้งนี้นอกจากจะได้รับความสนุกสนาน ได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้เห็นว่าเงาเกิดจากการที่ตัวเอง (ทึบแสง) กั้นแสงสว่างไว้
การจัดเก็บสื่อวิทยาศาสตร์
สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ ควรมีการจัดเก็บดังนี้
- การเก็บวัสดุอุปกรณ์ควรวางไว้บนชั้นที่ต่ำ เด็กสามารถหยิบยกด้วนตนเองได้
- วัสดุอุปกรณ์ใดที่จะต้องนำมาใช้ในเรื่องเดียวกัน ควรเก็บไว้ในกล่องเดียวกัน กล่องที่จะนำมาบรรจุวัสดุอุปกรณ์ควรเป็นกล่องเล็ก ถ้าใช้กล่องใหญ่เด็กอาจไม่สามารถยกได้และอาจตกลงมาทับเด็ก
- การจัดวัสดุอุปกรณ์ต้องจัดเพื่อยั่วยุให้เด็กเกิดความสนใจในการที่จะเอาออกมาทำกิจกรรม
- หมั่นตรวจเช็ควัสดุอุปกรณ์อยู่เสมอ ถ้าพบสิ่งใดชำรุดควรซ่อมแซม หรือไม่นำมาใช้
- ใช้ระบบสัญลักษณ์มาช่วยในการจัดประเภทวัสดุ ไม่ควรใช้ตัวหนังสือเพราะเด็กยังอ่านไม่ออก เช่นใช้สีเป็นเครื่องหมายบอกหมวดหมู่เพื่อให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น หรือใช้ภาพ
ประโยชน์ของการใช้สื่อการสอนวิทยาศาสตร์
             1. ช่วยให้เกิดประสบการณ์ตรง โดยเด็กได้เห็น ได้ทดลองและได้ทำด้วยตนเอง
             2. ช่วยให้เด็กเข้าใจบทเรียนดียิ่งขึ้นเพราะไม่ต้องอาศัยจินตนาการเพียงอย่างเดียว ซึ่งเกินความสามารถของเด็ก
             3. ช่วยให้บทเรียนเป็นที่น่าสนใจแก่เด็กยิ่งขึ้น อันเป็นเครื่องยั่วยุให้เด็กเกิดความตั้งใจในการเรียนเป็นอย่างดี
             4. ช่วยให้เด็กเห็นบทเรียนต่อเนื่องกัน เกิดความคิดและเข้าใจได้ง่าย เช่น ดูภาพยนตร์หรือภาพพลิกเกี่ยวกับความเจริญเติบโตของแมลง เห็นความเจริญเติบโตเป็นระยะ ๆ
             5. ช่วยให้จัดกิจกรรมให้เด็กร่วมในบทเรียนง่ายเข้า
             6. ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้นานและมากขึ้น
             7. ส่งเสริมให้มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนเพราะเด็กเรียนด้วยความสนุกสนานและ
เข้าใจ
ตัวอย่างสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย
             ในชั้นปฐมวัยไม่ได้สอนเป็นรายวิชา เป็นการเตรียมความพร้อมโดยนำเอาวิชาต่าง ๆ มาบูรณาการเป็นหน่วย และสอดแทรกวิธีสอนแบบเรียนปนเล่นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นสื่อการสอนหากจัดโดยยึดตามรายวิชาแล้ว สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อที่พบหาได้จากธรรมชาติ หรือครูสามารถประดิษฐ์ขึ้นมาได้เอง ตัวอย่างเช่น
             1. ของจริง
ของจริง ได้แก่ วัตถุ (คน พืช สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ) สถานการณ์จริง
ปรากฏการณ์จริง เป็นสื่อการสอนที่ใช้มากที่สุดในระดับปฐมวัย เนื่องจากเป็นสื่อที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม และเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้านของตนเอง ในสภาพการณ์จริง สื่อชนิดนี้เด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะเด็กต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อม ต้องการที่จะสัมผัสแตะต้อง ได้เห็น ได้ยิน ได้ชิม หรือได้ดมด้วยตนเอง
ตัวอย่าง สื่อของจริง เช่น ดอกไม้จริง ดินชนิดต่าง ๆ ก้อนหิน ต้นไม้ ฯลฯ
             2. ของจำลอง และสถานการณ์จำลอง
เป็นสื่อที่ใกล้เคียงของจริงหรือสถานการณ์จริงมากที่สุด ในบางครั้งประสบการณ์ตรง
นั้นไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ หรืออาจเป็นอันตราย หรือของจริงอาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป มีความซับซ้อน อยู่ไกลเกินกว่าที่จะนำมาศึกษาได้ จึงต้องจำลองหรือเลียนแบบให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงหรือเหมือนจริงที่สุด เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และเข้าใจได้ง่าย
ตัวอย่าง สื่อของจำลอง เช่น ผลไม้จำลอง หุ่นจำลองต่าง ๆ
             3. ภาพ บัตรภาพ ภาพชุด และแผนภูมิ
ภาพ บัตรภาพ หรือภาพชุด แผนภูมิที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ นำมาใช้
ประกอบการสอนของครูในการให้แนวคิดต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อครูสอนแนวคิดอะไรก็นำภาพ บัตรภาพ ภาพชุด หรือแผนภูมินั้นให้เด็กดู เด็กจะเกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ได้
ตัวอย่าง สื่อภาพ บัตรภาพ ภาพชุด และแผนภูมิ เช่น ภาพรุ้งกินน้ำ บัตรภาพแมลง
ภาพชุดดอกไม้ แผนภูมิส่วนประกอบของต้นไม้ ฯลฯ

             4. หนังสือภาพ และหนังสือส่งเสริมการอ่าน
หนังสือภาพและหนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีเรื่องและภาพ เป็นสื่อสำหรับให้เด็ก
เรียนรู้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดหาได้ง่าย การใช้หนังสือภาพอาจทำได้ดังนี้
- จัดมุมหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยสามารถหยิบและเปิดขึ้นดูเอง ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็นในภาพ และโยงกับสิ่งที่ตนเห็นในชีวิตประจำวัน หนังสือภาพที่จะให้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ หนังสือภาพสัตว์เลี้ยง แม้เด็กปฐมวัยส่วนมากจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่ดการดูภาพก็จะช่วยให้ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กได้เป็นอย่างดี
- ใช้ประกอบการสอนของครู เป็นการใช้หนังสือภาพประกอบการเล่าเรื่องนิทาน หรือการใช้แนวคิดทางธรรมชาติวิทยาแก่เด็กปฐมวัย หนังสือภาพที่ใช้อาจเป็นชุดเดียวที่จัดไว้ในมุมหนังสือ ครูจะช่วยอ่านบทสนทนาของตัวละครหรือคำบรรยายให้นักเรียนฟังเป็นการเพิ่มประสบการณ์แก่เด็กอีกทางหนึ่งด้วย
- ใช้ประกอบการแสดงออกของเด็กปฐมวัย ในกรณีที่เป็นเด็กปฐมวัยอายุ 4-5 ขวบ ครูอาจให้นักเรียนเล่าเรื่องจากหนังสือภาพให้เพื่อนนักเรียนฟังเป็นการกระตุ้นความสามารถในการแสดงออก และฝึกให้เด็กรู้จักสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อที่จะนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง ประกอบหนังสือภาพอีกด้วย
ตัวอย่างสื่อหนังสือภาพ และหนังสือส่งเสริมการอ่าน เช่น หนังสือภาพสัตว์เลี้ยง หนังสือนิทาน ฯลฯ
             5. โสตทัศนุปกรณ์
อุปกรณ์เหล่านี้ใช้ได้เฉพาะโรงเรียนที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณที่จะสามารถจัดหาเครื่องฉาย เครื่องเสียง วีดิทัศน์ ฯลฯ ได้ สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมด้านนี้ ก็อาจใช้สื่ออื่นทดแทนได้ อุปกรณ์เหล่านี้จะให้ประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยในลักษณะต่าง ๆ อาทิ
- เครื่องเสียง ช่วยให้นักเรียนได้ยินเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เสียงคนและสัตว์ เป็นต้น
- เครื่องฉายสไลด์ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพธรรมชาติต่าง ๆ ได้พร้อมกัน
- เครื่องฉายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ช่วยให้นักเรียนได้เห็นภาพการเคลื่อนไหว และได้ยินเสียงปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ
             6. การสาธิตและการทดลองง่าย ๆ
การสาธิต และการทดลอง เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กปฐมวัยได้รู้จักสังเกต และคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักปฏิบัติงานอย่างมีขั้นตอน และแสวงหาความรู้และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูสาธิตสิ่งที่ต้องการให้เด็กเห็นขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เด็กได้สังเกต ซักถาม และสรุป พร้อมกับให้เด็กมีโอกาสทดลองสิ่งที่ครูสาธิตหรือเรื่องที่เป็นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง
ตัวอย่าง สื่อการสาธิตและการทดลองง่าย ๆ เช่น
- การเล่นบ่อทราย เด็กจะได้เรียนรู้จากการสัมผัสความนุ่มนวล ความสาก ฯลฯ ของทราย เรียนรู้ว่า เมื่อเป่าทรายจะกระจาย เมื่อเอาน้ำเทลงไปทรายจะจับตัวเป็นก้อน เรียนรู้ส่วนผสมของทราย รวมทั้งสังเกตชีวิตสัตว์เล็ก ๆ ที่อาจมองเห็นในทราย
- การเล่นน้ำ เด็กจะเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างจากการเล่นน้ำ ดังนั้นจึงต้องจัดอ่างน้ำและภาชนะให้เด็กได้มีโอกาสเล่นตัก ตวง เอามือแกว่งไกว วิดน้ำ หรือสังเกตสิ่งที่อยู่ในน้ำ เป็นต้น
- กรงแมลง การดักจับแมลงเป็นสิ่งที่เด็กชอบมาก ครูอาจสอนวิธีจับแมลงโดยการจับมาเพื่อการศึกษา สังเกต มิใช่การทำลายชีวิต แมลงที่เด็ก ๆ สนใจ เช่น แมลงเต่าทอง ผีเสื้อ ตั๊กแตน การจับควรจับด้วยสวิงดักแมลง เมื่อดักได้ให้ค่อย ๆ เก็บใส่กรงสำหรับแมลง ซึ่งหมายถึงบ้าน
ชั่วคราวของแมลง เมื่อสังเกตและศึกษาในระยะเวลาหนึ่งแล้วให้ปล่อยแมลงเหล่านั้นไป
กรงแมลงอาจทำจากกระป๋องพลาสติกที่ตัดหัวท้ายให้ยาวขนาด 2 นิ้ว แล้วหุ้มท้ายด้วยผ้าโปร่งบางมัดด้วยเชือกพลาสติก ส่วนด้านบนให้มีผ้าที่ปิดเปิดได้ อาจใส่ใบไม้หรือพืชต้นเล็ก ๆ ไว้ในขวด เพื่อให้แมลงรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในธรรมชาติ
มดเป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่เด็ก ๆ สนใจอยากรู้ ลองนำขวดปากกว้างมาตักทรายหรือดินที่มีรังมดอยู่ใส่ลงไปแล้วหุ้มรอบ ๆ ขวดด้วยผ้าหรือกระดาษสีดำ ใส่น้ำหวาน หรือเศษอาหารลงไปในขวด ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ถอดผ้าที่หุ้มออก จะเห็นมดในขวดกำลังสร้างอาณาจักรอยู่ภายในนั้น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเด็ก
- กรงสัตว์ กรงสัตว์สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ลังหรือกล่องบรรจุผลไม้นำมาหุ้มด้านบนด้วยลวด ส่วนด้านล่างรองด้วยถาดสังกะสี ลังนี้ทำเป็นบ้านกระต่ายหรือสัตว์เล็ก ๆ อื่น เช่น กระแต กระรอก หนู ลูกไก่ ฯลฯ อาจใส่ทรายชื้น ๆ และต้นไม้นุ่ม ๆ สำหรับเป็นกรงเลี้ยงกบหรือคางคกหรือกิ้งก่า ถ้าเป็นสัตว์บางอย่าง เช่น เต่า อาจจะต้องใส่ก้อนหินและน้ำ กรงสัตว์นี้เป็นบ้านชั่วคราวของสัตว์เพื่อให้เด็กได้สังเกต มิใช่เป็นกรงสำหรับขังสัตว์ เมื่อศึกษาแล้วให้ปล่อยสัตว์ไปอยู่ตามธรรมชาติต่อไป
- ตาชั่ง สำหรับเด็ก ๆ แล้วตาชั่วที่ใช้เป็นเพียงตาชั่งสำหรับวัดความสมดุล คือ ตาชั่งสองแขน ซึ่งทำได้ง่าย ๆ โดยใช้แกนไม้ตั้งบนฐานแท่นไม้ ใช้ที่แขวนเสื้อชนิดทำด้วยไม้แขวนติดกับหมุดเล็ก ๆ ที่ปลายของไม้แขวนเสื้อห้อยด้วยกล่องนม เด็กจะใช้ชั่วของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อดูความสมดุลหรือดูว่าอะไรหนักกว่าอะไร
- กระถางต้นไม้ เด็ก ๆ ชอบสะสมเมล็ดชนิดต่าง ๆ นอกจากการเก็บเมล็ดผลไม้ใส่กล่องไว้ให้เด็กได้สังเกตเรื่องของขนาด รูปร่าง และสีแล้ว เมล็ดเหล่านี้อาจจะนำมาทดลองเพาะ การเพาะลงในกระถางจะทำให้เด็กได้มีโอกาสสังเกตการเจริญของเมล็ดได้อย่างใกล้ชิด กระถางพืชนี้อาจจะเป็นกระถางดินหรือดัดแปลงมาจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กระป๋องต่าง ๆ แก้ว เหยือก ภาชนะพลาสติกต่าง ๆ ถ้าเป็นที่เพาะเมล็ดพืชขนาดใหญ่อาจใช้ลังไม้รองด้วยอลูมิเนียม เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่เปียกออกมาด้านนอก
- กรงนก นอกจากจะมีการนำแมลงหรือสัตว์เล็ก ๆ ชนิดต่าง ๆ มาให้เด็กได้ศึกษาในห้องเรียนแล้ว ครูสามารถที่จะนำนักเรียนออกไปศึกษาสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เช่น ชีวิตนก ฉะนั้น อาจมีการทำกรงนกหรือบ้านนกชนิดต่าง ๆ ไว้ในบริเวณรอบนอกอาคาร ตามต้นไม้หรือชายคา บ้านนกอาจจะทำด้วยไม้ ทำด้วยกาบมะพร้าวทั้งลูกมัดด้วยลวดหรือรังนกกระจาบ มีอาหารนกไว้ให้สำหรับเด็กได้ใช้เลี้ยงนก
- กล่องวิทยาศาสตร์ ควรสะสมกล่องเปล่าสำหรับใส่ชุดวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นกล่องขนมปังที่เป็นโลหะหรือกล่องพลาสติก แต่ละกล่องจะบรรจุวัสดุสำหรับการทดลองแต่ละอย่าง เช่น กล่องที่จะทดลองเรื่องลอย-จม ในกล่องจะมีวัสดุสำหรับการทดลองในเรื่องดังกล่าว เช่น ลูกโป่ง ลูกแก้ว เศษไม้ ฟองน้ำ เม็ดโฟม หน้ากล่องเขียนชื่อติดไว้ เวลานำมาใช้จะได้สะดวกในการค้นหา นอกจากนี้ กล่องที่บรรจุวัสดุอุปกรณ์สำหรับสอนความคิดรวบยอดแต่ละเรื่องแล้ว อาจจะเป็นกล่องที่บรรจุเครื่องมือที่ใช้บ่อย ๆ เช่น แว่นขยาย แม่เหล็ก กระจกเงา ลวด เปลือกหอย เข็มทิศ นาฬิกา ฯลฯ
- การปรุงอาหาร กิจกรรมการปรุงอาหาร เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กายภาพ เพราะเด็กจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารได้ง่าย เช่น การละลาย การทำให้อ่อนตัว การเปลี่ยนรูปทรงและสีอาหาร ไม่จำเป็นจะต้องปรุงให้สุกเพียงการผสมเครื่องปรุงก็เป็นประสบการณ์การเรียนรู้อย่างหนึ่ง

             7. นิทาน
การเล่านิทานเป็นการเล่าเรื่องต่าง ๆ โดยการใช้หนังสือภาพ หนังสือนิทาน หุ่นต่าง ๆ
หรือแสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง โดยครูเลือกนิทานที่เหมาะสมกับวัย ความสนใจ และความต้องการของเด็ก เล่าให้เด็กฟังโดยอ่านจากหนังสือ หรือใช้อุปกรณ์ประกอบ พร้อมกับให้เด็กได้สนทนา อภิปราย และแสดงความคิดเห็นจากนิทาน
ตัวอย่าง สื่อนิทาน เช่น นิทานเรื่องประโยชน์ของผัก
มีเด็กนักเรียนห้องหนึ่งกินผักกันทั้งห้อง ทุกคนแข็งแรงมาก และก็มีเด็กนักเรียนอีก
ห้องหนึ่งไม่กินผักเลย ทุกคนอ่อนแอมาก วันหนึ่งนักเรียนต้องแข่งขันเดินเร็วกัน นักเรียนห้องที่กินผักเดินชนะ เพราะแข็งแรง เดินไม่เหนื่อย ส่วนนักเรียนห้องที่ไม่กินผักเดินไปได้หน่อยก็เป็นลมล้มลงจึงแพ้

             8. เพลง
การร้องเพลง เป็นการจัดให้เด็กได้แสดงออกเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และ
เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและจังหวะ โดยให้เด็กฟังและร้องเพลงไปพร้อม ๆ กับครู เพลงที่นำมาให้เด็กร้อง ควรเลือกเนื้อเพลงง่าย ๆ และสั้น และควรให้เด็กได้เคลื่อนไหวท่าทางประกอบการร้องเพลง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงท่าทางประกอบอย่างอิสระตามจินตนาการ
ตัวอย่าง สื่อเพลง เช่น เพลงรุ้งกินน้ำ
รุ้งเลื่อมลายงามงดงาม สีม่วงครามอีกงามน้ำเงิน
เขียวเหลืองเพลินดูน่าชม ช่างงามสมสีส้มแดง
             9. เกม
การเล่นเกม เป็นการให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เด็กได้เคลื่อนไหว
ร่างกายส่วนต่าง ๆ เล่นและอยู่ร่วมกับเด็กอื่นได้ โดยเล่นเกมที่มีกติกาง่าย ๆ หรือเกมการละเล่นพื้นเมืองที่เหมาะกับวัย ก่อนเล่นครูต้องอธิบายกติกาและสาธิตให้เข้าใจ
ตัวอย่าง สื่อเกม เช่น เกมแมวจับหนู
วิธีเล่น - ให้เด็กนั่งเป็นวงกลม จับมือกัน
- ให้เด็กออกมา 2 คน คนหนึ่งสมมติเป็นแมว อีกคนหนึ่งสมมติเป็นหนู
- สมมติให้คนที่นั่งเป็นถ้วยที่เก็บน้ำมันหมู
- ให้เด็กคนที่เป็นแมวไปหาน้ำมันหมู
- ให้เด็กคนที่เป็นหนูไปกินน้ำมันหมู
- เด็กคนที่เป็นแมวถามเด็กคนที่นั่งเป็นวงกลมว่าน้ำมันหมูหายไปไหน
- เด็กคนที่นั่งทั้งหมดตอบว่าหนูกินหมด
- เด็กคนที่เป็นแมวถามว่า หนูหายไปไหน
- เด็กคนที่นั่งทั้งหมดชี้ไปที่ตัวหนู
- เด็กคนที่เป็นแมววิ่งไล่ตามหนู ถ้าวิ่งจับหนูได้ถือว่าจบเกม และผลัด
เปลี่ยนคนใหม่ต่อไป

             10. คำคล้องจอง
การท่องคำคล้องจอง เป็นการส่งเสริมการใช้ภาษาในการฟัง พูด เด็กได้รับคาม
เพลิดเพลิน สนุกสนาน โดยให้เด็กฟังและท่องคำคล้องจองไปพร้อม ๆ กับครู คำคล้องจองที่นำมาให้เด็กท่องจำควรเลือกคำคล้องจองที่ง่าย ๆ และสั้น ควรให้เด็กได้เคลื่อนไหวท่าทางประกอบการท่องคำคล้องจอง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงท่าทางประกอบอย่างอิสระตามจินตนาการ
ตัวอย่าง สื่อคำคล้องจอง เช่น คำคล้องจอง ประโยชน์ของดิน หิน ทราย
ดิน หิน ทราย ใช้ในการก่อสร้าง เป็นห้างร้านบ้านเรือนที่อาศัย
ทำถนนโรงเรียนวัดทั่วไทย ทำของใช้ปลูกต้นไม้ได้ดีเอย
             นอกจากวัสดุดังกล่าวข้างต้น ยังมีวัสดุอื่น ๆ ที่สามารถจัดหาเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากนี้ได้ แล้วแต่ความสามารถของโรงเรียน เช่น กล้องจุลทรรศน์ หนังสือสารานุกรมวิทยาศาสตร์ ลูกโลกและตัวอย่างหินแร่ต่าง ๆ และครูวิทยาศาสตร์ควรสำรวจและบันทึกรายการเหล่านี้ไว้ด้วย คือ แหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรบุคคลและสถานที่ที่จะนำมาให้เด็กได้เรียนรู้ ทรัพยากรบุคคล อาทิเช่น เจ้าหน้าที่เกษตร, อนามัย, บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่วนอุทยาน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ เจ้าหน้าที่จากสมาคมสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ นักกีฏวิทยา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เกษตรกร เจ้าของฟาร์มสัตว์ต่าง ๆ ส่วนสถานที่ที่น่าสนใจ อาทิเช่น สวนสัตว์ วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้อาจจะมีการร่วมมือกับโรงเรียนมัธยม หรืออุดมศึกษาในท้องถิ่น ที่จะขอนักเรียนระดับโตมาควบคุมและทำงานด้านวิทยาศาสตร์กับเด็กทั้งในและนอกห้องเรียน
บทสรุป
             สื่อการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย มีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ของจริง ของจำลอง สถนการณ์จำลอง ภาพ บัตรภาพ ภาพชุด แผนภูมิ หนังสือภาพ หนังสือส่งเสริมการอ่าน โสตทัศนูปกรณ์ การสาธิต การทดลอง นิทาน เพลง เกม และคำคล้องจอง ซึ่งหาได้จากท้องถิ่นและแหล่งต่าง ๆ รอบตัว หรือสามารถผลิตขึ้นใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฐมวัยที่การใช้สื่อการสอนมีความสำคัญและจำเป็นมากในการจัดประสบการณ์ เพื่อให้เด็กเห็นเป็นรูปธรรม เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นครูควรเลือกใช้สื่อการสอนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเนื้อหาและกิจกรรม โดยควรเลือกใช้สื่อที่เป็นของจริง หรือสื่อมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเด็ก เพื่อเป็นการประหยัด และก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ