วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ส่งลูกไปโรงเรียนอย่างมีความสุข

การส่งลูกไปโรงเรียนอย่างมีความสุข


baby

ส่งลูกไปโรงเรียนอย่างมั่นใจ
(M&C แม่และเด็ก)

            ภาพการไปโรงเรียนครั้งแรกของเด็กอนุบาล มักไม่น่ารักเท่าไหร่ ก็แหม...นี่เป็นครั้งแรกที่พวกหนู ๆ จะต้องออกเผชิญโลกภายนอกตามลำพังนี่นะ จากที่เคยอยู่ที่บ้าน มีคุณพ่อคุณแม่พี่เลี้ยงดูแล จู่ๆ จะให้ไปอยู่ที่โรงเรียนกับคนแปลกหน้าอย่างคุณครูและเพื่อน ๆ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวเป็นธรรมดา

            แล้วจะมีวิธีไหนที่ทำให้เจ้าตัวเล็กคุ้นเคยกับการไปโรงเรียนได้เร็ว ๆ ได้บ้างนะ

ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกโรงเรียน

            วิธีแรกที่ควรทำคือการค่อยๆ อธิบายให้ลูกได้รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องไปโรงเรียน เหมือนอย่างพี่ๆ ที่โตแล้ว เรื่องนี้ถ้าบ้านไหนมีพี่ ๆ ที่เป็นเด็กวัยเรียนอยู่ด้วยแล้วก็ไม่ยาก เจ้าหนูจะเข้าใจได้จากภาพที่เห็นว่าพี่ ๆ ไปโรงเรียนตอนเช้า เดี๋ยวพอเย็นก็ได้กลับบ้าน การไปโรงเรียน ไม่ใช่การพรากจากแม่ตลอดไป ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแบบนั้น

            แต่ถ้าไม่มีตัวอย่างให้ลูกดูชัด ๆ ขนาดนั้น ก็ควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกโรงเรียนของตัวเอง โดยนำเอกสารของโรงเรียนต่าง ๆ มาให้ลูกดู ซึ่งในเอกสารเหล่านั้นมักมีภาพเด็กนักเรียนในอิริยาบถที่ร่าเริง แจ่มใสอยู่ ลองชี้ชวนให้ลูกดูภาพเหล่านั้น และกระตุ้นให้ลูกอยากร่วมกิจกรรมที่เห็นในภาพ ถามเขาบ่อย ๆ ว่าอยากไปที่โรงเรียนนี้มั้ย อยากไปเล่นกับเพื่อนๆ แบบนี้มั้ย ลูกชอบภาพโรงเรียนไหน ไปเที่ยวโรงเรียนกันมั้ย

เสริมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน

            จากนั้นบอกลูกบ่อย ๆ ว่าเขาโตแล้วต้องไปโรงเรียน เหมือนอย่างที่คุณแม่คุณพ่อต้องไปทำงาน มีแต่เด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องเท่านั้นที่ไม่ต้องไปโรงเรียน ลูกจะรู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ โดยคุณแม่อาจใช้ช่วงเวลาพูดคุยเรื่องนี้ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น ขณะเล่านิทาน วาดรูประบายสี ควรบอกเขาว่า เขาจะได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ อย่างนี้ร่วมกับเพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียน ซึ่งจะสนุกกว่าการเล่นกันอยู่ที่บ้านแค่สองคนแม่ลูก

สร้างความคุ้นเคยกับการเรียนรู้

            การสร้างความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ เป็นเรื่องจำเป็นค่ะ คุณอาจฝึกให้ลูกรู้สึกสนุกกับการไปโรงเรียน ด้วยการเล่นสมมุติเป็นครู นักเรียนฝึกอ่าน ก ไก่ ข ไข่ ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาได้มีพื้นฐานการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความอยากเข้าไปสัมผัสบรรยากาศห้องเรียนจริง ๆ ได้เป็นอย่างดี

กระตุ้นความอยากไปโรงเรียน

            เด็ก ๆ จะรู้สึกอยากและรอคอยวันที่จะไปโรงเรียนมากขึ้น ถ้าคุณเอาของต่าง ๆ ที่เขาจะต้องใช้ไปโรงเรียนมาให้ดูบ่อย ๆ อย่างชุดนักเรียน กระเป๋าเป้ สมุด หนังสือ ดินสอสี เด็กบางคนถึงกับซ้อมจัดกระเป๋าหนังสือ หรือแต่งชุดนักเรียนได้ทุกวันเชียวค่ะ ดังนั้น ถ้าลูกรบเร้าขอแต่งชุดนักเรียนเล่นอยู่กับบ้านในช่วงก่อนเปิดเทอม ก็ไม่ควรห้ามค่ะ

หนูทำได้...ไม่ต้องห่วง

            ก่อนเปิดเทอมคุณแม่ควรใช้เวลาช่วงนี้ฝึกให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยอนุบาลไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างเต็มที่ในบางเรื่อง

            ดังนั้นควรฝึกลูกให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง การแต่งตัว การสวมรองเท้า การรับประทานอาหาร เพราะที่โรงเรียนจะไม่มีใครคอยป้อนอาหารหรือแต่งตัวให้อย่างที่บ้าน ถ้าเขาไม่ได้รับการฝึกเรื่องเหล่านี้ไว้ พอถึงเวลาไปโรงเรียนจริง ๆ ก็จะรู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ เต็มไปด้วยสิ่งที่เขาทำไม่ได้ แต่ถ้าคุณแม่ได้ฝึกลูกไว้แล้วล่ะก็สบายใจได้เลยค่ะว่า เขาจะไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจ และภูมิใจที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อย่างเด็กใด ๆ

เอาของรักไปเรียนด้วย

            สำหรับเด็กอนุบาลแล้ว เหตุผลหลักเลยที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนคือ ไม่อยากจากคุณแม่หรือพี่เลี้ยง เรื่องนี้คุณแม่ควรทำความเข้าใจและบอกลูกว่า หนูแค่ไปโรงเรียนในตอนเช้าเดี๋ยวบ่าย ๆ ก็ได้กลับบ้านแล้ว และเพื่อความสบายใจของเขา คุณแม่อาจให้เขานำตัวแทนคุณแม่ หรือของรักของเขา เช่น ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ หรือแผ่นซีดีการ์ตูนเรื่องโปรด ไปโรงเรียนด้วยก็ได้ โดยตุ๊กตาจะช่วยเป็นตัวแทนของคุณแม่ หรือแผ่นซีดีที่นำติดตัวไปจะเป็นเหมือนเครื่องเตือนว่า อีกเดี๋ยวเขาก็จะได้กลับบ้านเปิดซีดีดูพร้อม ๆ กับคุณแม่แล้วล่ะ เขาไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนตลอดไปสักหน่อย

เตรียมรับความป่วน

            ถึงจะเตรียมความพร้อมให้ลูกไว้ดีขนาดไหน แต่เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนจริง ๆ เขาก็อาจจะโยเยขึ้นมาได้ คุณแม่ต้องเตรียมใจรับสถานการณ์ เอาไว้ เช่น อย่ายอมให้ลูกหยุดเรียนโดยไม่มีเหตุผล เพราะถ้ามีครั้งแรกแล้ว ย่อมมีครั้งต่อ ๆ ไม่ตามมาแน่นอน ไม่ควรแสดงท่าทีตกใจ หรือกังวลเกินเหตุเมื่อลูกบอกว่าปวดหัว หรือปวดท้อง ในตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ไม่ควรไปส่งลูกด้วยด้วยตัวเอง ถ้าปกติเขาขึ้นรถโรงเรียน และอย่าเอาของขวัญ รางวัลมาล่อ ถ้าต้องการทำเช่นนั้น ควรใช้การสะสมคะแนน เช่น ถ้าเขาไปโรงเรียนทุกวัน โดยไม่ร้องงอแงครบหนึ่งสัปดาห์จึงจะได้รางวัล

            คุณอาจเห็นว่าการเรียนระดับอนุบาล ไม่ใช่เรื่องซีเรียสมากนัก น่าจะยอมให้ลูกหยุดได้บ้าง แต่การฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการไปโรงเรียนนั้น ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญค่ะ หากยอมตามใจให้ลูกหยุดเรียน ไปบ้างไม่ไปบ้างแล้วล่ะก็ เชื่อได้เลยว่าคุณจะต้องพบปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ และการแก้ไขก็จะทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย

เคล็ดลับเลือกโรงเรียนให้ลูก

        ก่อนอื่นมองหาโรงเรียนใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานคุณพ่อคุณแม่เอาไว้ก่อน เพื่อความสะดวกในการรับ-ส่ง และลูกจะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการเดินทางมากเกินไป

        จากนั้นนำข้อมูลของโรงเรียนต่าง ๆ มาศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งเรื่องมาตรฐานของโรงเรียน หลักสูตรการศึกษา กิจกรรม และค่าใช้จ่าย

        สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน จากผู้ปกครองที่มีลูกเรียนอยู่ในโรงเรียนที่คุณสนใจ สังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เรียนในโรงเรียนนั้น ๆ

        ข้าไปสำรวจสภาพแวดล้อมโรงเรียนด้วยตัวเอง ว่ามีความสะอาอดปลอดภัย มีอุปกรณ์การเรียนเครื่องเล่นพร้อมมากแค่ไหน ถือโอกาสนี้พูดคุยกับคุณครู ถามถึงทัศนคติของคุณครูที่มีต่อเด็ก

เด็กปฐมวัยกับพัฒนาการทักษะทางภาษา

 
เด็กปฐมวัยกับพัฒนาการทักษะทางภาษา




การจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้นควรจัดให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก คำนึงถึงตัวเด็กเป็นหลัก จัดประสบการณ์ให้เด็กได้เพื่อส่งเสริมพัฒนาทุกด้าน เช่น ทักษะทางภาษา ........... .....
 

ปัจจุบันการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีมีสถานเลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐาน มีพี่เลี้ยงเด็กที่มีความรู้ เข้าใจ  ความต้องการ พัฒนาการเด็กจะส่งผลให้เด็กได้รับความรัก  ความอบอุ่น  ความมั่งคงทางจิตใจ      เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข   หนังสือสำหรับเด็กจะทำให้เด็กเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี  มีความสุข  มองโลกในแง่ดีและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้    
ในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในการสร้างหนังสือสำหรับเด็ก การอ่านคำกลอนให้เด็กฟังเป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมนำมาใช้กับเด็กปฐมวัย ทั้งนี้เพราะคำกลอนเป็นสื่อที่เด็กคุ้นเคย ให้ความสนุกสนานและความรู้ เด็กสามารถเก็บความจากเรื่องที่ฟังได้สมควรแก่วัย 
การที่ครูอ่านคำกลอนให้เด็กฟังแล้วให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์จากคำกลอนโดยครูมีคำถามมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมความคิดสร้างสรรค์ด้วยนั้น    เป็นการส่งเสริมการแสดงออก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   นอกจากนี้กิจกรรมการวาดภาพเป็นกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการในการสร้างหนังสือสำหรับเด็กได้ เด็กในวัยนี้ชอบวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจถึงแม้จะยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ แต่เขาสามารถวาดภาพบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของเขาให้เรารับรู้ได้อย่างละเอียด โดยผ่านวิธีการวาดภาพ เพราะในการวาดภาพของเด็กนั้นมักสะท้อนถึงเรื่องราวที่เขาสนใจ
                        จากสภาพการจัดการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยโดยทั่วไป ครูมักจะเป็นผู้กำหนดกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ ครูยังเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด เน้นครูเป็นศูนย์กลาง  ในการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการตอบสนองพฤติกรรมที่ครูเป็นผู้ริเริ่ม การนำกิจกรรมละครสร้างสรรค์มาใช้กับเด็ก ครูยังคิดเป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลาและตัวครูยังขาดทักษะบางประการที่จะส่งเสริมการแสดงออกของเด็กโดยผ่านละครสร้างสรรค์อีกด้วย ในทำนองเดียวกันการนำกิจกรรมการวาดภาพมาใช้กับเด็กปฐมวัย ครูส่วนมากจะเน้นที่การพัฒนากล้ามเนื้อมือและตา  ในลักษณะประสาทสัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงามเป็นหลักและมองข้ามการใช้การวาดภาพเสริมกิจกรรมอื่นๆเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทางด้านจิตใจ
สำหรับการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้นควรจัดให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก  คำนึงถึงตัวเด็กเป็นหลัก  จัดประสบการณ์ให้เด็กได้  กระทำ  เพื่อส่งเสริมพัฒนาทุกด้าน  ควรเลือกประสบการณ์ที่ใกล้ตัวเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเด็ก  อีกทั้งต้องคำนึงถึงความแตกต่างและความสนใจของเด็กเป็นรายบุคคล  เพราะเมื่อเด็กมีความสนใจก็จะตั้งใจทำกิจกรรมและเรียนรู้อย่างสนุกสนาน  ยิ่งไปกว่านั้นควรจัดประสบการณ์ให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ในหลายรูปแบบ  เช่น  การปฏิบัติการทดลอง  การนำไปทัศนศึกษา  การเล่นบทบาทสมมติ  การเล่นเป็นกลุ่มและเดี่ยว  ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจมีวิธีการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน  นอกจากนี้การจัดหน่วยประสบการณ์ให้กับเด็กนิยมจัดในรูปของกิจกรรมต่างๆ  คือ  กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ  กิจกรรมสร้างสรรค์และเล่นตามมุม  กิจกรรมในวงกลม  กิจกรรมการเล่นกลางแจ้งและเกมการศึกษา  ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาแก่เด็กว่าเป็นวิธีที่เด็กได้ฝึกทักษะการมองจากซ้ายไปขวา  การลากตัวอักษรจากบนลงล่าง  และการจำเครื่องหมายต่างๆ  ตลอดจนการสร้างสมุดเล่มใหญ่  (Big Book)  จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดจินตนาการทบทวนความจำ  ได้แสดงออกตามความสามารถของแต่ละคน  อีกทั้งได้ใช้กล้ามเนื้อและสายตาอย่างประสานสัมพันธ์กัน  มีการถ่ายโยงการเรียนรู้ซึ่งกันและกันขยายความรู้ความคิดแก่กัน  ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้  และเรียนรู้อย่างสนุกสนาน