วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

เสริม ไอคิว-อีคิว ให้ลูกน้อยด้วยนมแม่

เสริม ไอคิว-อีคิว ให้ลูกน้อยด้วยนมแม่

พญ.ธนีนาถ ตรีรัตน์วีรพงษ์ แพทย์ ประจำโรงพยาบาลตากสิน และ ดร.บุญศรี กิตติโชติพาณิชย์ นักโภชนาการจากวิทยาลัยเกื้อการุณย์ จับมือกันให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์นานัปการของการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนแนะแนวทางการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้เป็นแม่ เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอด ความสมบูรณ์สู่ลูกน้อย

ในงาน “สายใยรักแห่งครอบครัว” ณ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พญ.ธนีนาถ ตรีรัตน์วีรพงษ์ และ ดร.บุญศรี กิตติโชติพาณิชย์ กล่าวว่าเด็กควรได้รับนมแม่ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด และกินนมแม่อย่างเดียวไปจนถึงช่วง 6 เดือน เพราะสารอาหารในนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมตามอายุลูก มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมอง กระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อสมอง ช่วยให้ลูกฉลาดและแข็งแรง โดยไขมันในนมแม่จะไปห่อหุ้มเส้นใยประสาทในสมองลูก ส่วนโปรตีนในนมแม่จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้ เพราะมีสารต้านการอักเสบ สามารถช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและไม่สบายของลูก ซึ่งสารอาหารดังกล่าวไม่สามารถทดแทนได้ด้วยนมผสม

ในส่วนของ IQ-EQ นั้นสามารถสร้างจากแม่ส่งต่อถึงลูกได้ ทั้งนี้เพราะแม่และลูกจะมีสายใยผูกพัน ที่เชื่อมโยงถึงกันได้ แม่จึงสามารถสร้างพัฒนาการด้าน IQ-EQ ให้กับลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เริ่มจากการดูแลตัวเองทั้งอาหารกาย โดยรับประทานสิ่งที่เป็นประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ส่วนอาหารใจ จะเป็นในเรื่องการทำสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ ไม่เครียด ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูก ทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะสงบ อ่อนโยน ไม่วู่วาม ขณะเดียวกันระหว่างที่แม่สงบมีสมาธิ ร่างกายจะผลิต Growth Hormone ไปส่งเสริมพัฒนาการทางด้าน IQ ทำให้ลูกเกิดมาเป็นเด็กฉลาด

ขณะที่ลูกกำลังดูดนมจากอกแม่ ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน (Oxytocin) ในร่างกายของแม่ก็จะเพิ่มระดับขึ้น ทำให้เกิดสัญชาตญาณ ความเป็นแม่ผู้มีจิตใจอ่อนโยน เปี่ยมด้วยความรักและเมตตา รู้สึกสงบ เป็นสุข ซึ่งเด็กจะได้รู้ถึงความรู้สึกที่อ่อนโยนนั้น ทำให้เด็กอารมณ์ดี และเป็นสุขไปด้วย.

ปัญหาพฤติกรรมของเด็กวัย 1-3 ปี

ปัญหาพฤติกรรมของเด็กวัย 1-3 ปี


ลักษณะพฤติกรรมเด็กวัย 1-3 ปี

        จากการศึกษาพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กวัย 1-3 ปี พบว่า เด็กวัยนี้มีการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทอย่างรวดเร็ว โดยมีการสร้างเส้นใยประสาทและจุดเชื่อมต่อ (synapse) ของใยประสาท ซึ่งใยประสาทเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้ ความคิด ความจำ ตลอดทั้งพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก ประกอบกับธรรมชาติของเด็กวัยนี้เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากการค้นคว้า และสำรวจสิ่งใหม่ๆ รอบตัว มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความพร้อมทางทักษะของพัฒนาการมากขึ้น สามารถยืน เดิน วิ่ง ได้ด้วยตนเอง โดยที่เด็กรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ได้ และเกิดความภาคภูมิใจในงานที่ตนเป็นผู้กระทำสำเร็จ บางครั้งอาจพบว่าเด็กแสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับเหตุการณ์ต่างๆ บางอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญต่อการพัฒนาพฤติกรรมและการเรียนรู้ทักษะของพัฒนาการในทุกด้าน
         ซึ่งปัญหาของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ เป็นปัญหาที่ค่อนข้างเข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และพัฒนาการ จะเป็นลักษณะของการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งถ้าเด็กได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เหมาะสม โดยขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูแล้วนั้น ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมขึ้นอย่างง่ายดาย ตลอดทั้งสภาวะการณ์ทางสังคมในปัจจุบันมีสิ่งล่อแหลมต่อการเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่มีทัศนคติต่อเทคโนโลยีค่อนข้างมาก โดยเน้นที่วัตถุมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดความเข้าใจในพัฒนาการและมีวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กทั้งสิ้น

ชนิดของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

อาจจำแนกตามสาเหตุได้ดังนี้

1.       พันธุกรรม ปัญหาลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น เด็กกลุ่มอาการดาวน์ เด็กกลุ่มนี้มี
ระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติ เรียนรู้ช้า มีความสนใจสั้น มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ เด็กเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ ไม่คล่องตัวเนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก

2.       สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก
แทบทั้งสิ้น สภาพครอบครัว การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง มีอิทธิพลสูงต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดสภาพความกดดัน และมีผลต่อการปรับตัวของเด็ก บางครั้งจะพบว่าเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่มากเกินไป (overprotection) หรือน้อยเกินไป(neglected) หรือขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม (improper stimulation) ตามสภาพของเด็กแต่ละคน 
ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
1. พฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่ง (ซน) จะพบว่าส่วนใหญ่เด็กวัยนี้ มีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการสำรวจตรวจค้นอยู่แล้ว ตลอดทั้งมีภาวะอยู่ไม่นิ่ง ซน และมีช่วงความสนใจสั้น วอกแวก เคลื่อนไหวตัวเองอย่างไร้จุดหมาย แต่ลักษณะพฤติกรรมเช่นนี้จะพบในเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน  เนื่องจากเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น มีความสามารถในการรับรู้ช้ากว่า ร่วมกับความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมต่ำ และบางครั้งปัจจัยการเลี้ยงดูก็มีส่วนทำให้เด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่งมากขึ้นด้วย เนื่องจากความรัก ความสงสารเด็ก เห็นว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการและยังเล็กอยู่ รอให้โตขึ้นกว่านี้จึงค่อยสอนก็ได้

วิธีการแก้ไข
1.1    จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบ โดยลดสิ่งเร้ารอบตัวเด็ก เช่น เก็บของเล่นของเด็กเข้าตู้
หรือลิ้นชักให้เรียบร้อย ลดภาพหรือเครื่องตกแต่งภายในห้องเด็กให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อจะไม่กระตุ้นความสนใจของเด็กมากนัก

1.2    สร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยใช้วิธีปรับพฤติกรรม โดยการสร้างเสริมความ
สนใจและคงสมาธิในขณะทำกิจกรรม เพื่อลดพฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่งของเด็ก โดยการใช้ของเล่นเพื่อกระตุ้นความสนใจและคงสมาธิให้เด็กมีมากขึ้น อาจให้เด็กเล่นของเล่นครั้งละ 1 ชิ้น เมื่อเล่นเสร็จ ให้สัญญาณเตือนเด็กกว่า “จบ” หรือ “เสร็จ” และบอกว่า “เก็บ” กระตุ้นให้เด็กนำของเล่นเก็บเข้าที่ และเลือกของเล่นชิ้นต่อไปนำมาเล่นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาของการเล่นในระยะแรก อาจเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 นาที/ชิ้น และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการเล่นกับเด็กต่อไป

1.3    จัดตารางเวลาการทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันของเด็กอย่างเป็นระบบ โดยต้องกระทำ
กิจกรรมเหล่านี้ตามขั้นตอนที่จัดอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะทำให้เด็กเข้าใจและยอมรับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมดีขึ้น เรียนรู้การทำกิจกรรมง่ายขึ้น

1.4    ควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้กระทำกิจกรรมอย่างมีความหลากหลาย เพื่อกระตุ้นความสนใจเด็กให้เกิดสมาธิในการเรียนรู้  โดยการจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมากก่อน เช่น กิจกรรมการออกกำลังกาย อาจเป็นการวิ่ง เตะบอล กระโดด เพื่อให้เด็กระบายพลังงานที่มีอยู่เต็มเปี่ยม และจึงเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมที่มีเป้าหมาย ซึ่งมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่า เน้นการฟังและการมีสมาธิในขณะทำกิจกรรม เช่น กิจกรรมศิลปะ หรือกิจกรรมการนั่งเล่น จะทำให้เด็กสนใจและเรียนรู้กิจกรรมที่มีเป้าหมายได้ดีขึ้น
1.5    การใช้ยา ในกรณีที่เด็กมีภาวะอยู่ไม่นิ่งมากอาจพิจารณาใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม ซึ่งใช้วิธีปรับพฤติกรรมอย่างเดียวแล้วไม่ค่อยได้ผล ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมของที่บ้านและที่โรงเรียนว่ามีความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และชัดเจนมากน้อยเพียงใด แต่การใช้ยาไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตรายต่อเด็ก เพียงแต่ขอให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และควรรับประทานยาต่อต่อเนื่องและอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งขนาดของยาอาจต้องปรับตามลักษณะพฤติกรรมของเด็กและน้ำหนักของเด็กตามความเหมาะสมด้วย ถึงแม้เด็กจะได้รับยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมก็ตาม ก็ยังควรใช้หลักของการปรับพฤติกรรมควบคู่กับการใช้ยาร่วมด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. พฤติกรรมก้าวร้าว อาจมีลักษณะของพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของ ซึ่งในเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นอาจมีปัญหาของพฤติกรรมที่รุนแรงกว่าเด็กปกติ เพราะมีภาวะการณ์เรียนรู้ช้า ไม่เข้าใจ มีความบกพร่องทางการสื่อสาร บอกความรู้สึกหรือความต้องการกับผู้อื่นไม่ได้ 
     ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมนี้แล้ว ก็ควรที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กและผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง อย่านำข้อบกพร่องของเด็กเหล่านี้มาเป็นตัวขัดขวางการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม และไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กอื่นๆ และผู้อื่นด้วย ที่จะต้องยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก จะมีผลทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษขาดความเข้าใจในการเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้อง เพราะคิดว่าพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ซึ่งอนาคตเด็กเหล่านี้ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่นในสังคม
วิธีการแก้ไข
2.1 ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรม
tantrum ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กวัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ตาม ควรใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมในลักษณะของการเพิกเฉย (ignore) ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นร้องไห้ โวยวายเสียงดัง ฯลฯ และไม่ควรหัวเราะต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก แต่ควรแสดงสีหน้าที่เรียบเฉย นิ่ง สงบ และลอบสังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งอาจใช้เวลาแตกต่างกันประมาณ 10-30 นาที หรือบางครั้งอาจนานถึง 1 ชั่วโมงก็ได้ หลังจากที่เด็กมีพฤติกรรมที่ลดลง สงบลง ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กออกจากเหตุการณ์ช่วงนั้น ไปสู่กิจกรรมอื่นแทน และไม่ควรพูดย้ำเตือนเหตุการณ์นั้นอีก

2.2    อาจใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมด้วยวิธี time out โดยจัดมุมห้อง มุมใดมุมหนึ่งของบ้านหรือ
ห้องฝึก ซึ่งมุมนั้นควรเป็นมุมเงียบ และไม่มีสิ่งที่เด็กสนใจ แต่ต้องไม่น่ากลัวสำหรับเด็ก ไม่ควรมีอุปกรณ์ใดๆ เป็นแรงเสริมให้เด็กสนใจหรือต้องการ ถ้าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ นำเด็กแยกออกจากสิ่งแวดล้อมขณะนั้น และนำเข้ามุมที่จัดไว้สำหรับปรับพฤติกรรม บางครั้งเรียกว่ามุมสงบ โดยให้เด็กอยู่ภายในมุมนั้นชั่วคราว เวลาที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมเด็ก พิจารณาตามอายุ โดยอายุ (ปี) : เวลา (นาที) เช่น เด็กอายุ 2 ปี ใช้ 2 นาที เป็นต้น และมีครูหรือผู้อื่นคอยดูแลอยู่ห่างๆ และเมื่อครบเวลานำเด็กออกจากมุมนั้น ถ้าเด็กยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีก ก็จะต้องใช้วิธี time out ทุกครั้ง

2.3    เทคนิคปรับพฤติกรรม โดยวิธีลงโทษ (punishment) เป็นวิธีการหยุดพฤติกรรมที่ไม่
เหมาะสมโดยทันที พฤติกรรมนั้นค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กและผู้อื่น ซึ่งถึงแม้จะได้ผลทันทีก็จริง แต่ควรใช้เป็นวิธีสุดท้ายกับเด็ก เพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่กลับเรียนรู้ว่าถ้าจะหยุดพฤติกรรมอื่นๆ จะต้องใช้การลงโทษ (ซึ่งอาจใช้การตี การกัด) ไปใช้แก้ปัญหากับเด็กหรือผู้อื่นแทน

2.4    ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือตัวเด็กเอง อาจใช้วิธีกอด
รัดเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม ถ้าเด็กตัวใหญ่อาจใช้ผ้าห่อรัดตัวเด็กแทน และต้องไม่สนใจต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก เด็กอาจจะดิ้นหรือต่อต้านผู้ปรับพฤติกรรม แต่ผู้ปรับพฤติกรรมต้องมีความชัดเจน อดทน และสม่ำเสมอ ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และเมื่อเด็กสงบลงใช้วิธีเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมใหม่แทน ไม่ควรพูดตำหนิในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้อีก ก็อาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมเช่นนี้อีกทุกครั้ง จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มากกว่าการพูดตำหนิว่าเด็กอย่างเดียว เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีความบกพร่องในความเข้าใจและการสื่อภาษา

3. พฤติกรรมไม่ยอมแบ่งปันและไม่รู้จักรอคอย เด็กในวัยนี้ยังรอคอยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กในวัยนี้ และจะยากมากถ้าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่ทักษะของพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเรียนรู้กันได้

วิธีการแก้ไข
3.1    จัดกลุ่มกิจกรรมย่อย ซึ่งมีเด็กประมาณ 2-3 คนต่อครู 1 คน โดยครูจัดของเล่นให้มีความหลากหลายและเป็นที่สนใจของเด็ก ครูจะเป็นผู้นำกลุ่มโดยให้เด็กผลัดกันเล่นของเล่น โดยใช้เวลาในการเล่นแต่ละขั้นไม่นานมาก จากนั้นครูให้สัญญาณเตือนให้เด็กพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนของเล่นกัน จะทำให้เด็กทุกคนในกลุ่มได้เรียนรู้การเล่นอย่างมีกฎเกณฑ์
3.2    ถ้ากรณีของเล่นที่เด็กสนใจและมีจำนวนจำกัด ครูควรมีกฎเกณฑ์กับเด็กให้ชัดเจน เช่น คนไหนอยากเล่นของเล่นชิ้นนี้ยกมือขึ้น ให้เด็กที่ยกมือขึ้นก่อนได้รับของเล่น ซึ่งในกลุ่มอาจมีเด็ก 4 คนแต่มีเด็ก 3 คนที่ยกมือขึ้น ก็ให้เด็ก 3 คนเล่นของเล่นก่อน หลังจากนั้นครูอาจจับเวลาการเล่นให้เล่นคนละ 5 นาที เมื่อครบเวลา ครูให้สัญญาณเตือนให้เด็กส่งของเล่นให้เพื่อนที่ยังไม่ได้เล่นต่อไป โดยใช้กฎกติกาเดิม แต่ถ้าเกิดกรณีที่เด็กไม่รอคอยพยายามจะแย่งของเล่นออกจากเพื่อน ครูต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ได้ โดยการจับแยกเด็กออกจากกลุ่ม ถึงแม้ว่าเด็กจะร้องไห้ โวยวายก็ตาม ต้องใช้วิธีการเพิกเฉย (ignore) แต่ครูจะให้ความสนใจในเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยให้เล่นของเล่นกันต่อไป เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในพฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
4. พฤติกรรมการกระตุ้นตัวเอง เช่น การโยกตัว การดูดนิ้ว ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นเวลาเด็กอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไร บางครั้งอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น ดังนั้นเด็กจึงแสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อหาความสุขสบายในรูปของการกระตุ้นตัวเอง

วิธีการแก้ไข

4.1    สังเกตพฤติกรรมโดยพิจารณาความถี่ที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมเหล่านี้เกิดในเหตุการณ์
ใดบ้าง

4.2    ให้ความรัก ความเอาใจใส่ อย่าดุว่า ตำหนิ หรือชี้นำพฤติกรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กสนใจ
และมีพฤติกรรมเพิ่มขึ้น ทางที่ถูกต้องควรโอบกอด สัมผัสด้วยความรัก และเบี่ยงเบนให้เด็กสนใจในกิจกรรมอื่นแทน อาจใช้ของเล่น หรือเกมการเล่นอื่นเข้ามาแทน

5. พฤติกรรมดื้อรั้น พฤติกรรมดื้อรั้นของเด็กนั้น ทางด้านจิตวิทยาได้กล่าวว่าเป็นพฤติกรรมที่เด็กต้องการความเป็นอิสระหรือความเป็นเจ้าของในส่วนที่เป็นของตัวเอง เช่น เรื่องความเป็นตัวของตัวเองที่จะทำอะไรเป็นอิสระด้วยตัวเอง พอไม่ได้รับในสิ่งนั้น เด็กก็จะหาทางต่อสู้ โดยแสดงความดื้อรั้นกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใกล้ชิด มักพบในวัย 2-4 ปี ในช่วงนี้เด็กต้องการทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตนเอง พบสิ่งใหม่ๆ ก็อยากสำรวจค้นคว้า ผู้ใหญ่ไม่ควรขัดขวางพัฒนาการของเด็กเพียง แต่คอยดูว่าถ้าสิ่งนั้นนำไปสู่อันตราย หรือนำไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็ต้องคอยป้องกัน หรือยับยั้งอย่างจริงจัง บางครั้งเด็กอาจแสดงพฤติกรรมดื้อรั้นร่วมกับพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ลงไปนอนดิ้น ร้อง กระทืบเท้า ทำลายข้าวของ ทุบตีผู้ใหญ่

     พฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากการที่เด็กถูกตามใจจนกระทั่งเคยตัว โดยที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึงว่าการปล่อยตัวตามใจทุกอย่างนั้นเป็นการขัดขวางพัฒนาการของเด็กอย่างร้ายแรงที่สุด เพราะจะทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่มีความอดทน นึกอยากได้อะไรก็ต้องได้ทุกอย่าง ขาดวินัย ถ้าไม่ได้ก็จะอาละวาด ก้าวร้าว ถ้าเด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวแล้วเด็กได้ในสิ่งที่ต้องการ ครั้งต่อไปเด็กก็จะเอาพฤติกรรมก้าวร้าวเช่นนั้นเป็นเครื่องต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่อีก หรือบางทีก็จะยิ่งอาละวาดหรือก้าวร้าวมากขึ้น เพราะรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ผู้ใหญ่ยอม หรืออีกสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในพฤติกรรมเด็กดื้อรั้น คือเด็กถูกยั่วยุด้านเดียว เช่น ถูกขัดใจอยู่ตลอดเวลา หรือถูกแหย่ให้โกรธตลอดเวลา จนกลายเป็นเด็กขี้โมโห หรือกรณีถูกลงโทษโดยไม่เป็นธรรมหรือถูกลงโทษรุนแรงเกินไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเร้าอารมณ์ให้เด็กเกิดพฤติกรรมดื้อรั้นแทบทั้งสิ้น
วิธีการแก้ไข
5.1 ไม่ควรบังคับเด็กมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรตามใจมากเกินไป ถ้าทำตามไม่ได้หรือให้ไม่ได้ก็ควรบอกว่าทำไม่ได้ ต้องยืนยันตามเหตุผลนั้นอย่างจริงจัง การกระทำอย่างอ่อนโยนแต่เด็ดขาดชัดเจน เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เด็กรู้ว่ามีคนรักและเอาใจใส่ความรู้สึกของเด็ก

5.2 ในกรณีที่เด็กมีพฤติกรรมดื้อรั้น เช่น มีพฤติกรรมต่อต้าน ร้องไห้โวยวาย วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดในขณะนั้นคือ ต้องใจเย็น อย่าให้อะไรในขณะที่เด็กเกิดพฤติกรรมเช่นนั้น ถ้าเห็นว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่หนักหนาและไม่เป็นอันตรายต่อตัวเด็ก อยากร้องก็ปล่อยให้ร้อง อย่าแสดงอาการวิตกกังวลกับพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้น เด็กก็จะค่อยๆ สงบและเงียบลง เมื่อเด็กเงียบควรเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น พฤติกรรมการดื้อรั้นก็จะลดลง และถ้าเด็กก้าวร้าวโดยการทำร้ายตัวเอง/ผู้อื่นร่วมด้วย ควรจับ/กอดรัดเด็กไว้ก่อนเพื่อหยุดพฤติกรรมนั้น เมื่อเด็กสงบลงก็เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น เมื่อเด็กมีอารมณ์ดื้อรั้น ผู้ใหญ่ต้องใจเย็น สงบ แต่เอาจริง จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ 
     ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ต้องพยายามเข้าใจธรรมชาติและความต้องการของเด็กด้วย ถ้าเอาแต่สอนเด็กแต่ตัวเองไม่ทำตามที่สอนหรือไม่ทำตามที่พูด เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ดีแต่พูดเท่านั้น เช่น บอกว่าถ้าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะต้องถูกลงโทษ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมนั้นจริงกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กก็จะรู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง และเด็กก็จะยิ่งแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้น ก็จะต้องขู่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้หรือเข้าใจพฤติกรรมนั้นได้ กลับเข้าใจว่าเป็นเพียงคำขู่ ไม่มีอะไรจริงจัง กรณีเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมให้เด็กกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อรั้นมากขึ้น

ปัญหาของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัยนี้ไม่ยากที่จะแก้ไข ถ้าเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็กและเทคนิคการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ก็สามารถนำเด็กไปสู่พฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมตามวัยของเด็กได้
สรุป     การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับและตระหนักถึงปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก่อน จากนั้นต้องพยายามหาสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันโดยทางพันธุกรรมและการอบรมเลี้ยงดู วิธีการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมแบบหนึ่ง อาจเหมาะสมกับเด็กคนหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะสมกับเด็กอีกคนหนึ่งก็ได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กก็ควรทำเป็นรายบุคคล ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และบำบัดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ทันท่วงที ก็จะสามารถขจัดปัญหาพฤติกรรมนั้นได้ 
     การแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจและความตั้งใจจริงของพ่อแม่ แต่การป้องกันปัญหาก่อนเกิด ย่อมเป็นสิ่งที่ควรจะทำมากกว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจหลักพัฒนาการและธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ ตลอดจนเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล มีความรักและความตั้งใจในการเลี้ยงดู ก็จะสามารถป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่อาจเกิดได้นั่นเอง